21 สิ่งที่น้องปีหนึ่งควรใส่ใจ

ต่อนี้ไปจะเป็นเรื่องดี ๆ ที่จะขอเอามาบอกกับน้องปีหนึ่งด้วยกัน 21 ประการ

โดย วิโรจน์ อิวคุณ

1) วางแผนการเรียน
ปีหนึ่งนั้นขอรับรองว่าต้องมีงานแยะแน่ควรหาเวลาทำการบ้านและทำความเข้าใจกับการเรียนให้ได้อย่างน้อยวันละสองถึงสามชั่วโมงถ้าสามารถวางแผนการเรียนได้แต่เนิ่นๆ ก็ย่อมจะทำให้เรียนสนุก และใช้ประโยชน์ของเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสองสามอาทิตย์แรกของปีหนึ่งนั้นก็น่าตื่นเต้นดีอยู่หรอก เพราะเจอเพื่อนใหม่ ๆ สถานที่แปลก ๆ หรูหรากว่าที่เคยเรียนในโรงเรียนมัธยม อาจารย์ก็พูดแบบนักวิชาการชั้นสูง ไม่พูดหยอกย้ำเหมือนก่อน ทุกอย่างต้องมีแผน

2) ลองเรียนวิชาแปลกๆ นอกคณะ
มหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ที่เพียงแค่มาเรียนเนื้อหาวิชาชีพ แต่ยังควรที่จะได้ทดลองเรียนอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่ไปประกอบอาชีพดังนั้น ไม่ควรต้องขยาดที่จะไปเรียนวิชาแปลก ๆ ที่ไม่เคยมีพื้นความรู้หรือความเข้าใจมาก่อนต้องถือว่าการเรียนมหาวิทยาลัยนั้นคือโอกาสที่จะขยายฐานความรู้หรือความสนใจไปในโลกกว้าง

นักศึกษาที่เรียนจนจบได้ปริญญาไปแล้ว รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่เคยลืมเลยว่าวิชาพิเศษๆ ที่ได้ไปลองเรียนนอกคณะหรือภาควิชาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เลือกเรียนเป็นวิชาเอกของตัวเองนั้นได้สอนให้ได้ความคิดดีๆ ใหม่ๆ ได้อย่างน่าประหลาดใจ

3) เรียนวิชาที่บังคับให้เรียนก่อนวิชาเลือก
แม้อาจจะยังไม่ถึงกำหนดเวลาให้เลือกวิชาเอก แต่นักศึกษาที่รู้ความต้องการของตัวเองแต่ชัดแล้ว ก็ควรที่จะเลือกวิชาที่เป็นพื้นฐานของวิชาเอกได้อยู่แล้ว และในกรณีนี้ก็อาจรวมถึงวิชาอื่นๆ ที่กำหนดไว้ว่า ถ้าเลือกวิชาเอกนั้นๆ
แล้วต้องมีวิชาอื่นที่ต้องเรียนให้ครบ

        ดังนั้น แม้กระทั่งจะยังเรียนอยู่ปีหนึ่งภาคเรียนที่สอง ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นการรีบเรียนแต่อย่างไร

4) ควรสอบถามให้รู้แน่ชัดว่าต้องเลือกวิชาเอกเมื่อไร
บางมหาวิทยาลัยจะกำหนดให้นักศึกษาเลือกวิชาเอกในเทอม 2 ของนักศึกษาปี 2 หรือเทอมแรกของปี 3 บางสาขาวิชาอาจกำหนดให้เลือกวิชาเอกก่อนหน้านั้นก็ยังมี

        ดังนั้น เป็นหน้าที่สำคัญของพวกคุณเองที่จะต้องทราบเรื่องเช่นนี้ล่วงหน้า

5) ศึกษาให้ทราบว่าต้องเรียนที่เครดิตจึงจะได้ปริญญา
นี่ก็เป็นธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่เผลอตัวไปได้เหมือนกัน จึงต้องรู้ว่าต้องเรียนทั้งหมดเท่าไร มีวิชาบังคับอะไรบ้างที่ได้เรียนไปแล้วมีเหลืออีกกี่วิชาที่ยังไม่ได้เรียนหลักสูตรปริญญาสี่ปีมีโอกาสหลงลืมได้เสมอ ยิ่งเป็นปริญญา สำหรับนักศึกษาต่อเนื่อง ที่มีหน่วยกิตประมาณ 75-80 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียนทั่วไปเพียงสองปีหรือราวครึ่งหนึ่งของปริญญาตรีภาคปกติยังมีตกหล่นเรียนไม่ครบ

แล้วยิ่งถ้าไม่มีการเปิดสอนในภาคเรียนสุดท้ายที่จะจบนั้น ก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกันบางครั้งวิชาภาษาอังกฤษที่บังคับให้เรียนแล้วตกอาจมีผลต่อการเรียนภาษาอังกฤษลำดับถัดไป ที่เป็นเหมือนซีรีส์หนัง

        ดังนั้น อย่าปล่อยให้ถึงเทอมสุดท้ายถึงค่อยมาดูว่าเรียนอะไรไปแล้ว และที่ยังไม่ได้เรียนอีกมีอะไร การเรียนจบในสี่ปีย่อมดีกว่าสี่ปีบวกซัมเมอร์ หรือสี่ปีกับหนึ่งเทอม หรือถ้าเป็นห้าปี จะขาดทุน “ชีวิต” ไปเหมือนกันนะ

6) หาเวลาพบอาจารย์ที่ปรึกษาบ้าง
การศึกษาจากคู่มือนักศึกษาหรือระเบียบการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย บางทีก็ไม่สามารถตอบคำถามที่คาใจของพวกคุณได้ทุกเรื่องเสมอไป เช่น การเลือกเรียนวิชาเอกควรจะต้องเลือกอย่างไร หรือการเลือกวิชาเอกนั้นจะต้องผ่านวิชาบังคับใดก่อนบ้าง ซึ่งแม้จะมีคำอธิบายบางอย่างบางประการอยู่แล้วในคู่มือ แต่ความเหมาะสมกับนักศึกษาแต่ละคนอาจมีส่วนแปรเปลี่ยนการเลือกวิชาตรงนั้นไปก็ได้

        ดังนั้น การปรึกษาหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่ายิ่งกว่านั้นยังอาจได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์ที่ปรึกษาถึงเรื่องวิธีการเรียนวิชาบางวิชาหรือวิธีการเรียนกับบางอาจารย์เสียด้วยซ้ำไป

7) หาโอกาสพบปะสนทนากับอาจารย์ผู้สอนตามโอกาสอันควร
การแวะเยี่ยมอาจารย์ผู้สอน โดยใช้กำหนดเวลาที่อาจารย์แจ้งไว้ว่าจะอยู่ที่ห้องทำงาน จะทำให้นักศึกษาได้รู้จักมักคุ้นกับอาจารย์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับมีโอกาสสอบถามสิ่งที่ไม่เข้าใจหรือเพิ่มเติมเนื้อหาของวิชาให้มากขึ้น

ยิ่งกว่านั้นยังเป็นโอกาสที่ทำให้อาจารย์รู้จักกับตัวนักศึกษามากขึ้น ซึ่งในอนาคตก็ไม่แน่หมือนกันว่า อาจต้องมาขอให้อาจารย์ทำจดหมายรับรองหรือจดหมายแนะนำตัว ทั้งในเรื่องการทำงาน หรือการหางานทำก็เป็นได้ ดังนั้นการทำเช่นนี้ส่งผลดีทั้งปัจจุบันและอนาคต

8) หาเวลาเข้าสังคมไว้บ้าง
การหาเพื่อน รู้จักคบหาผู้คนเพื่อเข้าหมู่ นับเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตศึกษาในมหาวิทยาลัย ดังนั้น การเข้าสังคมเพื่อพบเพื่อนใหม่จึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ถ้ายังไม่กล้าพอ ครั้งแรกอาจชวนเพื่อนเก่าที่มักคุ้นอยู่แล้วไปด้วย

9) เข้าเป็นสมาชิกชมรมหรือสโมสรที่ถูกใจหรือต้องการมีส่วนร่วม
มีชมรม สโมสรคลับหรือค่ายอาสาฯ ที่เป็นที่ชุมนุมของเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัย มีรุ่นพี่รุ่นน้องคณะเดียวกันล้วนๆ ก็มีหรืออาจมีเพื่อนต่างคณะเข้ามาร่วม “แจม” ก็มี ดังนั้น ขออย่าได้มองข้ามหรือเห็นเป็นสิ่งไม่สู้สำคัญ จะเอาแต่เรียน เรียน เรียน เรียน อย่างเดียวก็คงไม่ได้เรื่องแน่

ทำไมไม่ลองเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งที่นักศึกษายังไม่รู้จัก แต่เป็นสิ่งที่ดี บางทีอาจจะพบสิ่งแปลกใหม่และถูกอัธยาศัย ถูกคอหรือพบเพื่อนที่ถูกใจอย่างไม่คาดคิด แล้วที่นั่นก็มักไม่ต้องเสียสตางค์เลย

        อีกอย่างต้องไม่ลืมว่า ถ้าเรียนจบไปแล้วเขาไม่รับเป็นสมาชิกหรอก เรารับเฉพาะคนที่ยังเรียนอยู่เท่านั้นนะ นี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือจะว่าอภิสิทธิ์ก็ยังได้

10) ลองสำรวจดูว่ามีกิจกรรมอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย
อาจได้พบสิ่งที่ตัวเองอยากทำมานาน ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก หรือสิ่งที่เกี่ยวพันกับอาชีพในอนาคตก็ตามอาจเป็นเรื่องกีฬาดนตรีหรือนันทนาการอื่นใด แม้กระทั่งการเข้าฟังสัมมนาของสโมสรการท่องเที่ยวก็น่าจะได้ประโยชน์กว่าการฆ่าเวลาด้วยการดูทีวีคนเดียว หรือไม่ช้อปปิ้งกับเพื่อนเสียด้วยซ้ำไป

11) ลองสำรวจรอบมหาวิทยาลัยให้รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน และมีบริการอื่นใดให้นักศึกษา
บางทีมหาวิทยาลัยมีอะไรที่จะให้บริการมากกว่าที่พวกคุณคิดไว้ การเดินแวะเวียนเยี่ยมชมตึกนั้นตึกนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องประหลาด ก็มหาวิทยาลัยทั้งหมดเลยนี่เป็นของพวกคุณแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเรียนและเดินอยู่ที่คณะของตัวเอง

ยิ่งถ้าเอาแต่อยู่ที่ภาควิชาที่ตัวเองเมเจอร์หรือเรียนเรียนเป็นวิชาเอกก็ยิ่งน่าสงสารจัง การรู้สิ่งละอันพันละน้อยเช่นนี้ จะทำให้รู้ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ได้ที่ไหน ถ้าที่ส่วนกลางไม่เปิด จะต้องไปใช้ที่ไหนได้เป็นการเฉพาะหน้าจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ที่ตึกไหน บลูทูธหรือระยะเชื่อมโยงไร้สายของอินเตอร์เน็ตจะอยู่ในรัศมีใด ห้องสมุดที่มีกี่แห่งในมหาวิทยาลัยมีหอสมุดกลางแห่งเดียว หรือมีห้องสมุดของคณะต่างๆ อีกด้วย?

  • ห้องสมุดของนักศึกษาปริญญาโทปริญญาเอกมีไหม? ใช้ได้ไหม?
  • เจ็บไข้ได้ป่วยจะใช้บริการที่ไหน?
  • เครื่องเขียนมีขายที่ไหนหนังสือเรียนซื้อจากไหน? 
  • ถ่ายเอกสารที่ไหนเร็วกว่า? ราคาเป็นไง? 
  • ตู้โทรศัพท์สาธารณะหรือตู้เอทีเอ็มใกล้สุดอยู่ไหน? 
  • ห้องพักอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่อาคารไหน?ฯลฯ

เห็นไหมว่ามีสิ่งควรรู้มากมายที่อยู่รายรอบรั้วมหาวิทยาลัยของพวกคุณ

12) เปิดหูเปิดตากับความเป็นไปในมหาวิทยาลัย
มีกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยภายใต้เวลาที่จำกัด บางอย่างมีเพียงแค่ชั่วโมงเดียว หรือวันเดียวหรือสองสามวันหรืออาจมีแค่ไม่กี่นาที

กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยก็ดี ชมรม ชุมนุม สโมสร คลับ ฯลฯ หรือกระทั่งชุมชนที่เข้ามาจัดงานเผยแพร่ความรู้ หรือเสนอขายสินค้า นักการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีมาบรรยายพิเศษ อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าไม่เปิดหูเปิดตาให้กว้างไว้ก็อาจพลาดสิ่งดีๆ ในชีวิต ไม่ได้ดูได้ชมและอาจต้องรอถึงปีหน้าปีโน้น หรืออาจไม่มีอีกเลยชั่วชีวิต

        การแสดงดนตรีการแสดงละคร การบรรยายพิเศษการสาธิต การปาฐกถา ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งทีเกิดขึ้นเสมอ แต่เกิดแล้วอาจไม่เกิดอีก และพวกคุณไม่มีโอกาสอีกเมื่อพ้นรั้วมหาวิทยาลัย

13) สำรวจสิ่งอื่นภายนอกมหาวิทยาลัย
ไม่จำเป็นที่ต้องรู้แค่ภายในมหาวิทยาลัย สิ่งภายนอกที่ล้อมรอบอยู่ด้านนอกก็น่ามีความสำคัญควรแก่การรู้การเห็นของพวกคุณร้านถ่ายเอกสาร ร้านถ่ายรูป ร้านเครื่องเขียน ร้านขายยา ร้านอาหารสแซบ ร้านหรือแผงลอยทำกุญแจ หรือร้านซ่อมรองเท้า ไปรษณีย์(หรือการสื่อสารฯ) ศูนย์การค้า ร้านทำผม ร้านตัดผม ฯลฯ สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับพวกคุณดอกหรือ?

14) รู้ตัวและเตือนตนถึงสถานที่ไม่ควรไป หรือที่ที่มีอันตราย
ในยุคปัจจุบันที่มียาบ้าระบาด รวมทั้งโรคเอดส์ การปล้นจี้ และการข่มขืน การทำร้ายร่างกาย ฯลฯเพราะเกิดจากคนบ้าๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องขอความรู้และคำอนุญาตอย่างที่บอกไว้การระลึกถึงอันตราย เตือนตนด้วยตน ทั้งไม่อยู่ในความประมาท ย่อมเป็นหนทางหลีกเลี่ยงภยันตรายได้ส่วนหนึ่ง

แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า ปลอดภัยได้ทั้งหมด การไปในบางสถานที่จำเป็นต้องมีคนไปเป็นเพื่อน และบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องทราบ

ยิ่งการเดินทางไปพักแรมนอกบ้านพกพาโทรศัพท์ที่จะติดต่อได้ง่ายเมื่อฉุกเฉิน (แต่ต้องระวังเหมือนกันว่าโทรศัพท์มือถืออาจเป็นชนวนให้คนร้ายอยากได้เสียอีก) หมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็นต้องใช้เมื่อเกิดปัญหาหรืออันตราย รวมทั้งการแต่งกายที่ไม่ล่อแหลมหรือชวนพาฝัน หรือมีเครื่องประดับที่มีราคาอาจเป็นเครื่องล่อใจผู้ร้าย

15) ศึกษาการให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย
เพราะในยามที่จำเป็นหรือเกิดเคราะห์หามยามร้ายที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนให้ได้อย่างเคย เมื่อจำเป็นก็สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ทราบหนทางที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ และบางทีการช่วยเหลือนั้นอาจมีกำหนดเวลาให้ยื่นแสดงความจำนงและอาจต้องรอคอยอีกระยะเวลาหนึ่งใช่ว่าจะอยากได้เมื่อไรก็เหมือนไปถอนเงินจากธนาคาร

ในการขอทุนหรือกู้ยืมเงินจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการเงินเพื่อการศึกษาดังกล่าว ควรจะได้ศึกษาถึงเงื่อนไขหรือข้อตกลงให้ชัดแจ้ง ก่อนตัดสินใจกระทำนิติกรรมสัญญานั้น

16) วางแผนการเงินตลอดภาคการศึกษา
วางแผนการใช้เงินที่มีอยู่หรือได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ใช้เงินเกินตัวประหยัดทุกเมื่อ ทุกโอกาสเมื่อเปิดบัญชีธนาคารแล้วต้องหมั่นตรวจตรายอดเงินคงเหลือ และหากจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มต้องแจ้งพ่อแม่ผู้ปกครองทราบล่วงหน้า บัตรเครดิตควรใช้เมื่อจำเป็น และต้องระวังยอดค้างที่เกินกำหนดชำระที่ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยในอัตรา(แพง)พิเศษ

อย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การสำรองเงินไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน โดยเฉพาะพวกคุณที่ไม่ได้พักอยู่กับพ่อแม่ และหากจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มจากภาวะปกติ อาทิ การซื้อคอมพิวเตอร์ก็ควรทำแผนการใช้จ่ายล่วงหน้า พร้อมแจ้งให้ท่านทราบก่อน เพื่อไม่ให้ท่านต้องกังวลจนอาจต้องเร่งรีบไปกู้ยืมเงินผู้อื่นมาให้และอีกประการหนึ่งคือการขอเงินในลักษณะดังกล่าวไม่ควรขอเผื่อไว้ ควรเป็นหน้าที่ของพวกคุณที่จะต้องตรวจสอบให้รู้ยอดเงินที่แน่นอนด้วย

17) วางแผนการใช้จ่ายเงินเป็นรายเดือน
เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของพวกคุณเป็นไปอย่างถูกต้อง ควรทำบัญชีตั้งค่าใช้จ่ายประจำเดือน และสำรวจการใช้จ่ายจริงที่อาจไม่เหมาะสมหรืออาจจ่ายเกิน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะแต่ละยอดที่จ่ายเกินจะสะสมเรื่อยๆ เข้าจนเป็นเงินก้อนใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

18) วางแผนเรื่องที่พักหรือพาหนะที่จะใช้ในการเดินทางไปกลับมหาวิทยาลัย
พวกคุณจำเป็นต้องเปรียบเทียบสิ่งที่ปฏิบัติในแต่ละช่วงเวลา ค่าที่พัก(หากไม่ได้พักอาศัยกับพ่อแม่) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถจะเลือกทำในสิ่งที่ดีกว่า ประหยัดกว่า หากรู้จักนำสิ่งที่ผ่านไปในอดีตมา
เปรียบเทียบและวางแผนล่วงหน้าสำหรับอนาคต

19) สำรวจช่องทางฝึกงานให้ตรงกับเป้าหมาย
เมื่อเรียนไประยะหนึ่ง พวกคุณก็ควรคิดถึงช่องทางการฝึกงาน ฝึกทีไหนดี? ฝึกเมื่อไร? เมื่อฝึกที่นั่นแล้วมีโอกาสทำงานที่นั่นตอนเรียนจบหรือไม่? ต้องสร้างสัมพันธภาพกับที่นั่นอย่างไร จึงจะได้ทั้งคะแนนและโอกาสในอนาคต?

20) จัดเวลาให้เหมาะทั้งเรียนและเล่น
ก็อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ถ้าเอาแต่เรียนไม่มีเล่นก็คงไม่ใช่ชีวิตที่มีความสุขนักในมหาวิทยาลัย และถ้าเอาแต่เล่นไม่มีเรียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์อันใด ของทั้งสองอย่างควรมีสัดส่วนที่พอเหมาะพอเจาะ อาจไม่เป็นครึ่งต่อครึ่งหรอกครับแต่จะเป็นเท่าใดก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าสามารถจัดการให้ลงตัวที่ดีที่เหมาะกับชีวิตทั้งในวันนี้และวันหน้าได้

21) วางแผนถึงชีวิตข้างหน้าเมื่อเรียนจบ
ไม่ถือว่าเป็นการเห่อเกินไปถ้าจะวางแผนล่วงหน้าถึงอาชีพการงาน จะทำอะไร หน้าที่อะไรถึงจะเหมาะกับตัวเอง และถ้าจะเป็นเช่นนั้นได้ ในวันนี้ขณะนี้เราจะต้องเรียนอะไร มีชีวิตเพื่อการเรียนรู้แบบไหน คบเพื่อนและเข้าสมาคมกับใคร? บุคลิกภาพจำเป็นไหม?

และตอบให้ได้ว่า คุณเป็นใคร? มีหน้าที่อะไรในวันนี้? วันหน้าจะทำอะไร?

(แหล่งที่มาของข้อมูล embark. com)

ที่มา: http://www.sci.buu.ac.th/~sci_stud/modules.php?name=News&file=article&sid=99

Permanent link to this article: https://insa.buu.ac.th/2010/?p=2668